เมนู

[1440] น่าสรรเสริญ ท่านมารดเราผู้เร่าร้อนให้
สงบระงับดับความกระวนกระวายทั้งปวงได้
เหมือนบุคคลดับไฟที่ติดเปรียบด้วยน้ำฉะนั้น.
[1441] ท่านได้ถอนลูกศรที่เสียบแทงหทัยของ
เราออกได้แล้ว ได้บรรเทาความโศกถึงบุตร
ของเราผู้ถูกความโศกครอบงำแล้วหนอ.
[1442] ดูก่อนมาณพ เราเป็นผู้ถอนลูกศรได้
แล้ว ปราศจากความโศก ไม่มีความขุ่นมัว เรา
จะไม่เศร้าโศก จะไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟัง
ถ้อยคำของท่าน.

จบ มัฏฐกุณฑลิชาดกที่ 11

อรรถกถามัฏฐกุณฑลิชาดกที่ 11



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
กุฎุมพีผู้หนึ่งซึ่งลูกตาย จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า อลงฺกโต มฏฺฐ-
กุณฑลี
ดังนี้.
ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี บุตรน้อยน่ารักของกุฎุมพีผู้เป็น
พุทธอุปฐากคนหนึ่งได้ตายลง กุฎุมพีเพียบด้วยความเศร้าโศกถึงบุตร

ไม่อาบน้ำไม่บริโภคอาหาร ไม่ดูแลการงาน ไม่ไปที่บำรุงพระพุทธเจ้า
บ่นเพ้ออยู่อย่างเดียวว่า ลูกรัก เจ้าจากพ่อไปก่อนแล้วเป็นต้น.
พระศาสดาตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยโสดา-
ปัตติผลของกุฎุมพีนั้น ครั้นรุ่งขึ้น พระองค์ทรงแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์
เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี พอฉันเสร็จทรงส่งภิกษุทั้งหลาย
กลับ พระองค์ทรงมีพระอานันทเถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จไปที่ประตู
เรือนกุฎุมพีนั้น คนทั้งหลายบอกแก่กุฎุมพีว่า พระศาสดาเสด็จมา.
ลำดับนั้นคนในเรือนของกุฎุมพีได้ปูลาดอาสนะ แล้วนิมนต์พระศาสดา
ให้ประทับนั่ง ช่วยกันประคองกุฎุมพีมาเฝ้าพระศาสดา กุฎุมพีถวาย
บังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงใช้พระวาจาเยือกเย็น
กอปรด้วยพระกรุณาทักทายแล้วตรัสถามว่า. อุบาสก ท่านเศร้าโศกถึง
บุตรน้อยหรือ ? เมื่อกุฎุมพีกราบทูลว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์
ตรัสว่า อุบาสก โบราณกบัณฑิต เมื่อลูกตายก็เพียบด้วยความเศร้าโศก
เที่ยวไป ครั้นได้ฟังถ้อยคำของบัณฑิตรู้โดยถ่องแท้ว่า เป็นฐานะที่ไม่
ควรจะได้ แล้วก็มิได้เศร้าโศกแม้น้อยหนึ่งเลย กุฎุมพีนั้นทูลอาราธนา
ให้ตรัสเรื่องราว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในพระนคร
พาราณสี บุตรของพราหมณ์ผู้มีสมบัติมากคนหนึ่ง เมื่ออายุได้ 15, 16 ปี
ถูกพยาธิชนิดหนึ่งเบียดเบียน ตายไปเกิดในเทวโลก ตั้งแต่บุตรนั้นตาย

พราหมณ์ไปป่าช้าคุ้ยเขี่ยกองฟอนคร่ำครวญอยู่ เลิกละการงานทุกอย่าง
เฝ้าแต่เที่ยวเศร้าโศก. เทพบุตรพิจารณาดูเห็นดังนั้น ทรงดำริว่า เราจัก
ทำอุปมาอย่างหนึ่งระงับความโศก ครั้นเวลาพราหมณ์ไปป่าช้าคร่ำครวญ
อยู่จึงแปลงเพศเป็นบุตรของพราหมณ์นั้น ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
ยืนอยู่ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง เอามือทั้ง 2 ไว้เหนือศีรษะร้องไห้ด้วย
เสียงอันดัง. พราหมณ์ได้ยินเสียงจึงแลดูเทพบุตรจำแลงนั้น กลับได้
ความรักในบุตร จึงได้เข้าไปใกล้เทพบุตร เมื่อจะถามว่า พ่อมาณพ
เหตุไรเจ้าจึงมาร้องไห้คร่ำครวญอยู่กลางป่าช้านี้ จึงได้กล่าวคาถาที่ 1
ว่า :-
ท่านประดับแล้วด้วยอาภรณ์ต่าง ๆ มี
ต่างหูเกลี้ยงเกลา ทัดทรงระเบียบดอกไม้
ลูบไล้กระแจะจันทน์สีเหลือง ท่านมีทุกข์
อะไรหรือ จึงมากอดอกคร่ำครวญอยู่ในกลาง
ป่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกโต คือประดับแล้วด้วย
อาภรณ์ต่าง ๆ. บทว่า มฏฺฐกุณฺฑลี คือประกอบด้วยต่างหูอันเกลี้ยง
เกลา ซึ่งมีรูปร่างอันสำเร็จแล้ว. บทว่า มาลธารี คือทัดทรงระเบียบ
ดอกไม้อันไพจิตร. บทว่า หริจนฺทนุสฺสโท คือลูบไล้ด้วยจันทน์มีสี
ดังทอง. บทว่า วนมชฺเฌ คือในกลางป่าช้า. บทว่า กึ ทุกฺขิโต ตุวํ

ความว่า พราหมณ์กล่าวว่า ท่านมีความทุกข์อะไรหรือจงบอกมา เรา
จะให้สิ่งที่ท่านต้องการแก่ท่าน.
ลำดับนั้น มาณพเทพบุตรเมื่อจะบอกแก่พราหมณ์ จึงกล่าว
คาถาที่ 2 ว่า :-
เรือนรถงามแพรวพราว แล้วไปด้วย
ทองคำของเรามีอยู่แล้ว เราหาล้อทั้ง 2 ของ
เรือนรถนั้นยังไม่ได้ ด้วยความทุกข์อันนั้น
เราจักตายเป็นแน่.

เมื่อพราหมณ์จะรับหาให้ จึงได้กล่าวคาถาที่ 3 ว่า :-
ท่านต้องการรถชนิดไร รถทำด้วย
ทองคำ แก้วมณี โลหะ หรือรูปิยะ จงบอก
รถชนิดนั้นแก่เราเถิด เราจะทำรถให้แก่ท่าน
จะหาล้อทั้งคู่ใส่ให้เสร็จ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาวท ความว่า ท่านต้องการรถ
ชนิดไร ? ชอบใจรถชนิดไร ? จงบอกรถชนิดนั้นเถิด เราจะทำรถให้
แก่ท่าน. บทว่า ปฏิปาทยามิ คือเราจะให้ท่านได้รับล้อทั้งคู่ที่เหมาะ
แก่เรือนรถ.

พระศาสดาผู้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสด้วยคาถาที่มาณพฟังดังนั้นแล้ว
จึงได้กล่าวคาถา ว่า :-
พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้ง 2 งาม
ผ่องใสอยู่ในวิถีทั้ง 2 ลอยไปในอากาศ รถ
ทองของเราย่อมงามด้วยพระจันทร์ และพระ-
อาทิตย์นั้นอันเป็นคู่ล้อ.

พราหมณ์ จึงกล่าวคาถาที่เหลือต่อจากนั้น ว่า :-
ดูก่อนมาณพ ท่านเป็นพาลแท้ ท่านได้
ปรารถนาสิ่งที่เขาไม่ปรารถนากัน เราเข้าใจ
ว่าท่านนั้นจักตายเสียเปล่า ท่านจักไม่ได้
พระจันทร์และพระอาทิตย์เลย.

พึงทราบอธิบายในคาถาที่พราหมณ์กล่าว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปตฺถยํ แปลว่า อันเขาไม่พึง
ปรารถนากัน.
ลำดับนั้น มาณพ จึงได้กล่าวคาถา ว่า :-
แม้ความอุทัยแลอัสดงของพระจันทร์
และพระอาทิตย์นั้นก็ยังปรากฏอยู่ สีสรร

วรรณะ และวีถีทางของพระจันทร์และพระ-
อาทิตย์ทั้ง 2 ก็ยังปรากฏอยู่ ส่วนบุคคลผู้
ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่ปรากฏเลย บรรดาเรา
2 คนผู้คร่ำครวญอยู่ ใครเล่าหนอจะเป็นคน
โง่เขลายิ่งกว่ากัน ?

พึงทราบอธิบายในคาถาที่มาณพกล่าว.
การขึ้นและการอัสดง ชื่อว่า คมนาคมนํ ในคาถานั้น.
สีสรรนั่นแหละ ชื่อว่า วณฺณธาตุ ในคำว่า อุภเยตฺถ วีถิโย
นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ คือแม้ภูมิเป็นที่ไปและเป็นที่มาของพระจันทร์
และพระอาทิตย์ทั้ง 2 ย่อมปรากฏอยู่ในอากาศว่า นี้เป็นวิถีของพระ-
จันทร์นี้เป็นวิถีของพระอาทิตย์.
บทว่า เปโต ปน ความว่า ส่วนสัตว์ผู้ไปแล้วสู่ปรโลก
ย่อมไม่ปรากฏเลย. บทว่า โก นุ โข ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น
บรรดาเรา 2 คนผู้คร่ำครวญอยู่ ใครเล่าหนอจะเป็นคนเขลายิ่งกว่ากัน.
เมื่อมาณพกล่าวอยู่อย่างนี้ พราหมณ์กำหนดความได้ จึงได้
กล่าวคาถา ว่า :-
แน่ะมาณพ ท่านพูดจริง บรรดาเรา
ทั้ง 2 ผู้คร่ำครวญอยู่ เรานี่แหละเป็นคน

โง่เขลายิ่งกว่าท่าน เราปรารถนาผู้ตายไปยัง
ปรโลกแล้ว เหมือนเด็กร้องไห้อยากได้พระ-
จันทร์ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า จนฺทํ วิย ทารโก ความว่า
เด็กชาวบ้านวัยหนุ่ม พึงร้องไห้เพื่อต้องการพระจันทร์ด้วยกล่าวว่า ท่าน
ทั้งหลายจงให้พระจันทร์แก่เราเถิด ดังนี้ ฉันใด แม้เราก็ปรารถนาผู้ตาย
ไปยังปรโลกแล้วฉันนั้นเหมือนกัน.
พราหมณ์หายเศร้าโศกด้วยถ้อยคำของมาณพ เมื่อจะกล่าวชม
เชยมาณพ จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
น่าสรรเสริญ ท่านมารดเราผู้เร่าร้อนให้
สงบระงับดับความกระวนกระวายทั้งปวงได้
เหมือนบุคคลดับไฟที่ติดเปรียบด้วยน้ำฉะนั้น.
ท่านได้ถอนลูกศรที่เสียบแทงหทัยของ
เราออกได้แล้ว ได้บรรเทาความโศกถึงบุตร
ของเราผู้ถูกความโศกครอบงำแล้วหนอ.
ดูก่อนมาณพ เราเป็นผู้ถอนลูกศรได้
แล้ว ปราศจากความโศก ไม่มีความขุ่นมัว เรา

จะไม่เศร้าโศก จะไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟัง
ถ้อยคำของท่าน.

ลำดับนั้น มาณพกล่าวสอนพราหมณ์ว่า ท่านพราหมณ์ท่าน
ร้องไห้เพื่อประโยชน์แก่บุตรคนใด บุตรคนนั้นคือตัวข้าพเจ้าเป็นบุตร
ของท่าน ข้าพเจ้าเกิดในเทวโลกตั้งแต่นี้ท่านอย่าได้เศร้าโศกถึงเรา จง
ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรมดังนี้แล้ว ไปสู่วิมานของตน
แม้พราหมณ์ก็ดีตั้งอยู่ในโอวาทของมาณพนั้น ทำบุญมีให้ทานเป็นต้น
ตายแล้วไปเกิดในเทวโลก.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรง
ประกาศสัจธรรมเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระ-
ทศพลทรงประชุมชาดกว่า เทพบุตรผู้แสดงธรรมในครั้งนั้น คือเรา
ตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถามัฏฐกุณฑลิชาดกที่ 11

12. พิลารโกสิยชาดก



ว่าด้วยให้ทานไม่ได้เพราะเหตุ 2 อย่าง



[1443] สัตบุรุษทั้งหลายแม้ไม่หุงกินเอง ได้
โภชนะมาแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะบริโภคผู้เดียว
ท่านหุงโภชนะไว้มิใช่หรือ การที่ท่านไม่ให้นั้น
ไม่สมควรแก่ท่าน.
[1444] บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ 2 อย่างนี้
คือความตระหนี่ 1 ความประมาท 1 บัณฑิต
ผู้รู้แจ้งเมื่อต้องการบุญพึงให้ทานแท้.
[1445] คนผู้ตระหนี่กลัวความยากจน ย่อมไม่
ให้อะไร ๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแหละ
จะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัว
ความอยากข้าวอยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละ
จะกลับมาถูกต้องคนพาลทั้งในโลกนี้และโลก
หน้า.
[1446] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทานเถิด